การใช้ยาฟุ่มเฟือย พฤติกรรมสุดเสี่ยงในกลุ่มคนไทย
จากการสำรวจพบว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีการใช้ยาฟุ่มเฟือยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ยาในประเทศไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งที่จำนวนประชากรไทยไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ยา นอกจากนี้ภาวะการใช้ยาฟุ่มเฟือยยังนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพต่าง ๆ ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรทราบข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองและคนรอบข้างและนำไปสู่การใช้ยาที่เหมาะสมมากขึ้น
การใช้ยาฟุ่มเฟือย ในสังคมไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร?
การใช้ยาฟุ่มเฟือยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการจ่ายยาผู้ป่วยนอก การดูแลผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยใน รวมถึงการจ่ายยาในร้านขายยา พบว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มาพบแพทย์มีปัญหาเรื่องการใช้ยาซ้ำซ้อน ใช้ยามากเกินความจำเป็น สังเกตได้จากการที่ยาเดิมเหลืออยู่ปริมาณมาก ไม่ได้รับประทานยาที่รับไปในแต่ละครั้ง หรือมีการเปลี่ยนแปลงวิธีรับประทานยา หยุดยาบางตัวแล้วแต่ยาเดิมยังเหลือ จึงกินซ้ำไปซ้ำมาร่วมกับยาที่แพทย์สั่งให้ปัจจุบัน นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายมีการกักตุนยาจากร้านขายยาไว้ใช้ยามเจ็บป่วย ทำให้เกิดปัญหารับประทานยาซ้ำซ้อนหรือยาหมดอายุตามมา
สาเหตุที่ทำให้คนไทยใช้ยาฟุ่มเฟือย
- คนไทยหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และปัจจุบันการเข้าถึงยาเป็นเรื่องง่าย ยาหลายชนิดสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา รวมถึงยาสามัญประจำบ้านบางชนิดยังซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้ออีกด้วย บางครั้งการซื้อยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดปัญหาการใช้ยาฟุ่มเฟือยตามมา
- ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยธรรมชาติของผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวหลากอย่าง จึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิด ส่งผลให้เกิดแนวโน้มการใช้ยาฟุ่มเฟือยได้มาก
ทำความเข้าใจการใช้ยาฟุ่มเฟือย
การใช้ยาฟุ่มเฟือยทางการแพทย์เรียกว่า “polypharmacy” หมายถึง การใช้ยามากกว่า 5 ชนิดขึ้นไปในการรักษาคน ๆ เดียว ตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุ 1 คน มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ไขมันอุดตัน และโรคความดันโลหิตสูง โดยในโรค 1 โรคไม่ได้ใช้ยาเพียงชนิดเดียว ทำให้ต้องใช้ยาหลากหลายชนิดในการรักษา ซึ่งถือเป็นภาวะ polypharmacy
นอกจากนี้ การใช้ยาที่ไม่มีข้อบ่งใช้ (ใช้ยาโดยที่ไม่มีความจำเป็น เช่น การใช้ยาฆ่าเชื้อทั้งที่ยังไม่ได้ติดเชื้อ) ใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม ใช้ยาหลายชนิดจนเกิดปัญหายาตีกันเอง หรือใช้ยาจนเกิดอาการข้างเคียงและต้องใช้ยาชนิดอื่นมารักษาอาการข้างเคียงดังกล่าว เช่น กินยาแก้ปวดจนเป็นโรคกระเพาะ จึงต้องใช้ยารักษาโรคกระเพาะที่เกิดจากการกินยาแก้ปวด เป็นต้น
ประเภทของยาที่พบมากว่ามีการใช้ยาฟุ่มเฟือย
ประเภทของยาที่พบว่ามีการใช้ยาฟุ่มเฟือย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามประเภทของผู้ใช้ยา ดังนี้
- ยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคไขมันอุดตันยารักษาโรคความดันโลหิตเป็นต้น พบในผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ
- ยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) พบในคนทั่วไป
ยาปฏิชีวนะ หากใช้มากเกินไป มีผลอย่างไร
การกินยาปฏิชีวนะมากเกินไป หรือกินทั้งที่ภายในร่างกายไม่ได้มีเชื้อโรคชนิดร้าย ตัวยาจะไปทำลายเชื้อชนิดดีในร่างกายแทน ทำให้เกิดความไม่สมดุลในร่างกาย เช่น ภาวะท้องเสียเรื้อรัง ติดเชื้อแทรกซ้อน รวมถึงปัญหาเชื้อดื้อยา
พาราเซตามอล หากใช้มากเกินไป มีผลอย่างไร
ยาพาราเซตามอล หากรับประทานในขนาดที่เหมาะสมและใช้ตามอาการ โดยทั่วไปไม่ทำให้เกิดผลเสีย แต่พบว่าบางรายมีการใช้ยาต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีอาการปวด หรือบางรายคิดว่าตนเองยังไม่หายจากอาการปวด จึงเปลี่ยนชนิดยาแก้ปวดไปเรื่อย ๆ รับประทานยาแก้ปวดหลายชนิดพร้อมกัน พฤติกรรมนี้ทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้
ผู้ป่วยหลายโรค สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาฟุ่มเฟือยได้หรือไม่
โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีความจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดอยู่แล้ว จึงเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาการใช้ยาฟุ่มเฟือย แต่แพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมในการใช้ยา ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดอาการข้างเคียงน้อยที่สุด
พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดการใช้ยาฟุ่มเฟือย
- กักตุนยามากเกินความจำเป็น
- ใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม
- ใช้ยานอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
- ใช้ยาที่ไม่มีข้อบ่งใช้ (ยาที่ไม่ได้ส่งผลรักษาโรค)
- ใช้ยาหลายชนิดจนตัวยาตีกันเอง
- ใช้ยาชนิดเดียวมากจนเกิดอาการข้างเคียง ทำให้ต้องใช้ยาชนิดอื่นมารักษา
- ใช้ยาของผู้อื่นที่มีอาการคล้ายกันทั้งที่ในความเป็นจริงผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกัน แพทย์จะสั่งยาตามอาการคนไข้แต่ละรายซึ่งแตกต่างกัน ชนิดยาที่ใช้ก็แตกต่างกันไปตามอาการ
แนวทางปฏิบัติการใช้ยาที่เหมาะสม
- ตระหนักเสมอว่าใช้ยาเพื่ออะไรแล้วใช้ให้ถูกจุดประสงค์
- ตระหนักถึงขนาดของยาที่เหมาะสมว่าต้องกินปริมาณเท่าใดจึงจะเกิดประสิทธิภาพ
- เข้าใจเหตุผลที่แพทย์ปรับเปลี่ยนยา
- หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร