เกณฑ์มาตรฐานอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ
สำหรับกลุ่มเสี่ยง
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง

แบบแผนการกินอาหารการใช้แรงกายการเกิดภาวะอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีการเปลี่ยนแปลงไปแบบคู่ขนาน การกินอาหารที่ให้พลังงานสูงแต่ได้ในคุณค่าทางโภชนาการร่วมกับการใช้แรงกายที่น้อยลง ทำให้มีภาวะสุขภาพที่ขาดสมดุล และป่วยเป็นโรคในที่สุด ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นอย่างโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง การเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันให้ร่างกายได้รับสารอาหารวิตามินแร่ธาตุเส้นใยอาหารในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ และมีการเคลื่อนไหว ใช้แรงกายเพิ่มขึ้นโดยรู้จัก (เพิ่มทักษะ) เลือกชนิดและวิธีการปรุงประกอบอาหารการควบคุมปริมาณสารอาหารและเครื่องปรุงแต่งรสชาติอาหารที่กินจะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น สามารถควบคุมหรือลดอาการของโรคที่เป็นอยู่ ทั้งยังอาจช่วยลดปริมาณยาที่ต้องกินหรือหยุดยาได้ในที่สุด

กรมอนามัยโดยสำนักโภชนาการจึงได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เพื่อใช้เป็นคู่มือแนวทางสำหรับผู้ปรุงประกอบอาหารในครัวเรือนในสถานประกอบการร้านอาหารและผู้ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารรวมถึงกลุ่มแม่บ้านประชาชนทั่วไปที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการปรุงประกอบอาหาร หรือผลิตเพื่อจำหน่าย ให้ประชาชนทั่วไปประชาชนกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยที่อยู่ในระยะควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้กิน

เนื้อหาประกอบด้วย สถานการณ์อาหารและผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือก โรคที่เกิดจากการกินไม่ถูกแนวทางการกินอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพเกณฑ์มาตรฐานในการพัฒนาอาหารทางเลือกและผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงการพัฒนาอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกสำหรับโรคเบาหวานความดันโลหิตสูงหลักการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพการจัดการอาหารสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงและ มีการพัฒนานำตัวอย่างสูตรอาหารมาทดลอง คิดคะแนน เพื่อที่จะพัฒนาให้ตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจทุกๆท่าน

คณะทำงานเกณฑ์มาตรฐานอาหารทางเลือก
เพื่อสุขภาพ สำหรับกลุ่มเสี่ยง
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
พฤษภาคม 2556

โรคเบาหวาน
เป็นภาวะที่ร่างกายเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน “อินซูลิน” ซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ เพื่อเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ คือมีน้อยไม่พอกับความต้องการ หรือมีไม่น้อยแต่ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ผลก็ออกมาเหมือนกับว่ามีอินซูลินน้อย คือพาน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ไม่ได้ ผลที่ตามมาก็คือ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติซึ่งเป็นภาวะที่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อทั่วไปในร่างกาย
เบาหวานมี 2 ชนิด
เบาหวานชนิดที่ 1 ต้องพึ่งอินซูลิน
เบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลินเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่เกิดขึ้นจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้หรือผลิตได้น้อยมากต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกาย
เบาหวานชนิดที่ 2 ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน
เบาหวานชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน เกิดจากสาเหตุที่ร่างกายเกิดการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) คือร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินที่ผลิตไปใช้ได้ เนื่องจากตัวรับอินซูลินเกิดความบกพร่องทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่างกายจึงพยายามสร้างอินซูลินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เซลล์ของตับอ่อนเสื่อม จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ในอดีตโรคเบาหวานชนิดนี้ เกิดกับผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบในประชากรที่อายุน้อยลง รักษาด้วยการกินยาคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

สถานการณ์เบาหวาน
รายงานของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ
(international diabetes federation) พบว่าพุทธศักราช 2555 ทั่วโลกมีคนเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 371 ล้านคน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคไม่ทราบว่า เป็นโรคเบาหวานมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน 4.8 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละก้าวคนซึ่งมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการดูแลสุขภาพ จากเบาหวานมากกว่า 471 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 14 ล้านบาทสำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขพบว่า พุทธศักราช 2554 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 7625 คน เมื่อเปรียบเทียบในรอบ 10 ปี (พ.ศ.2545 กับ2554) พบมีผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า

อาการที่บ่งว่าเป็นโรคเบาหวาน
อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่พบบ่อย คือปัสสาวะมาก และบ่อยขึ้น กระหายน้ำ คอแห้ง ดื่มน้ำบ่อย หิวบ่อย กินมากขึ้น รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลดบาดแผลจะหายช้า ติดเชื้อบ่อย ตาพร่ามัว และ/หรือมีอาการไตวายได้

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานวินิจฉัยได้โดยการตรวจเลือดภาวะน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 70-90 มก./ดล. ส่วนผู้ที่มีน้ำตาลกลูโคสอยู่ในช่วง 100-125 มก./ดล. แสดงว่าเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต แต่ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ หรือมากกว่า 126 มก./ดล. (รวมกับมีอาการแสดงดังกล่าวข้างต้น) ก็แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรได้รับการรักษาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการใช้กิจกรรมทางกายของตนเอง

รู้จักกินควบคุมเบาหวานได้
หัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวานคือ การกินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากหรือน้อยเกินไป การกินมากเกินไปจะทำให้น้ำตาลขึ้นสูง หรือขึ้นเร็วเกินไป ในขณะเดียวกันถ้ากินน้อยเกินไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจนเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคนเป็นเบาหวานที่มีการฉีดอินซูลินมีหลักการกินอาหารไม่แตกต่างจากหลักการกินเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีของคนทั่วไปคือการกินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ให้ถูกสัดส่วนปริมาณพอเหมาะ และมีความหลากหลายลดอาหารหวาน มัน และเค็ม

ลดหวาน มัน เค็ม สำหรับกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน
” น้ำมัน น้ำตาล เกลือ… กินแต่น้อยเท่าที่จำเป็น”
เมื่อพูดถึงน้ำมันน้ำตาล เกลือ ทุกคนทราบดีว่ามีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของคนเรา ในเรื่องการปรุงเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยน่ากินแต่การกินอาหารหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ย่อมมีผลต่อสุขภาพความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงต้องมีการรณรงค์ลด อาหารหวาน มัน เค็ม

น้ำตาลกับสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน
“น้ำตาล” เป็นคาร์โบไฮเดรตที่เป็นโมเลกุลเดี่ยวหรือคู่ที่ให้ความหวาน และพลังงานต่อร่างกาย ความหวานจะมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำตาล แต่ในแง่ของโภชนาการยังทำหน้าที่เพิ่มรสชาติ และสร้างความพึงพอใจแล้ว น้ำตาลจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตรูปหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย น้ำตาล 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ แต่พลังงานในน้ำตาลนั้นเป็นพลังงานชนิดที่เรียกว่าพลังงานว่างเปล่า (Empty calories) เพราะน้ำตาลเป็นอาหารที่ปราศจากกากใยไม่มีทางวิตามินแร่ธาตุสารอาหารตลอดจนปัจจัยทางด้านโภชนาการใดๆทั้งสิ้น
“น้ำตาลทราย” น้ำตาลทรายหรือซูโครส ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้น ได้มาจากอ้อยและหัวบีท เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสและ ฟรุกโตส แล้วส่งเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วดังนั้นการบริโภคน้ำตาลจึงเท่ากับเป็นการให้พลังงานแก่เซลล์ กล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า แต่ในทางกลับกันหากได้รับน้ำตาลปริมาณมาก น้ำตาลจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมัน ที่สะสมในร่างกาย นั่นหมายถึงการทำให้มีน้ำหนักเกินอ้วน และทำให้เกิดโรคหรือปัญหาทางสุขภาพตามมา
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าปริมาณน้ำตาลที่มีการเติมในอาหารไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมด สำหรับข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ที่แสดงปริมาณอาหาร ในธงโภชนาการของไทย แนะนำการบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 4, 6 และ 8 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ในผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 2,000 และ 2,400 กิโลแคลอรี่ต่อวันตามลำดับ ข้อแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป ของเครือข่ายรณรงค์เด็กไทยไม่กินหวานกำหนดให้ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาในแต่ละวันจากรายงานของศูนย์บริหารการผลิตสํานักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแห่งประเทศไทยรายงานว่าอัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทย เพิ่มจาก 12.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในปีพ.ศ 2526 เป็น 33.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปีพ.ศ 2550 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อคิดเป็นปริมาณเฉลี่ยต่อวัน ได้ปริมาณ 23 ช้อนชาต่อคนต่อวันซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมากจากรายงานการสำรวจ ทางระบาดวิทยา และข้อมูลงานวิจัยทำให้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าโรคฟันผุและโรคอ้วนตลอดจนโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ตามมากับความอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูงโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคน้ำตาลอย่างแน่นอน บรรดาโรคเหล่านี้ที่พบในผู้ใหญ่ก็สามารถพบในเด็กด้วย และเพิ่มจำนวนในเด็กที่อายุน้อยลงไปเรื่อยๆ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีรสหวานได้แก่น้ำอัดลมเครื่องดื่มรสหวาน เช่นชา กาแฟ แยมลูกกวาด ขนมหวาน เบเกอรี่ ไอศกรีม

ที่มา : สำนักโภชนาการกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข

ใส่ความเห็น