14 พฤศจิกายน เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) โดยนอกจากวันเบาหวานโลกจะมีไว้ให้เราตระหนักถึงอันตรายของโรคเบาหวานแล้ว การกำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญยังมีเบื้องหลังที่น่าสนใจอีกด้วยค่ะ
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่คุกคามสุขภาพของคนทั่วโลก โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกกว่า 415 ล้านคน และมีกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานรายใหม่ถึง 318 ล้านคน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2583 จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคน
ที่สำคัญยังมีการคาดการณ์ว่า จำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวาน คือประมาณ 313 ล้านคน จะเป็นผู้หญิง และผู้หญิง 2 ใน 5 ที่ป่วยเป็นเบาหวานจะอยู่ในวัยเจริญพันธุ์
ส่วนสถิติโรคเบาหวานในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันพบว่า มีคนไทยวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8 ที่น่ากลัวคือ ในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานถึง 200 คน หรือประมาณชั่วโมงละ 8 คน
ขณะเดียวกันก็พบว่า คนไทยมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31 เป็นร้อยละ 37 และจากอัตราเฉลี่ยทำให้ทราบว่า ผู้หญิงไทยเกือบครึ่งมีภาวะอ้วน ซึ่งภาวะอ้วนเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และยังพบว่าโรคเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก ทว่าในประเทศไทยนั้น โรคเบาหวานติดอันดับ 2 ของการเสียชีวิตของผู้หญิงในประเทศไทย
ฉะนั้นเพื่อให้เราทุกคนตระหนักถึงความเสี่ยงโรคเบาหวาน และเพื่อรณรงค์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ห่างจากโรคเบาหวานมากขึ้น วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) และกระปุกดอทคอมก็อยากเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนให้ทุกคนห่างไกลโรคเบาหวาน วันนี้จึงจะพามาทำความรู้จักวันเบาหวานโลกให้มากขึ้นกันค่ะ
วันเบาหวานโลก กับประวัติความเป็นมา
วันเบาหวานโลกเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยความร่วมมือจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (IDF) องค์การอนามัยโลก (WHO) และสหประชาชาติ (UN) โดยเหตุผลที่ทั้ง 3 องค์กรระดับโลกเลือกวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี ให้เป็นวันเบาหวานโลก ก็เพราะว่า วันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นวันเกิดของ Frederick Banting ผู้ค้นพบอินซูลิน ยาฉีดลดน้ำตาลในเลือดที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงบุคคลสำคัญ ผู้คิดค้นยาเพื่อช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวาน วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลกนั่นเอง
สัญลักษณ์วันเบาหวานโลก กับความหมายอันลึกซึ้ง
สัญลักษณ์ของวันเบาหวานโลกมีลักษณะเป็นวงกลมสีฟ้า โดยวงกลม คือ สัญลักษณ์แห่งชีวิต สุขภาพ และการร่วมมือกัน ส่วนสีฟ้า เป็นสีที่สื่อถึงท้องฟ้าทั่วทั้งโลก
สัญลักษณ์วงกลมสีฟ้าในวันเบาหวานโลกจึงมีความหมายถึงการร่วมมือกันของคนทั้งโลกเพื่อต้านภัยจากโรคเบาหวาน ภายใต้ชื่อของสัญลักษณ์ที่เรียกกันว่า “United for Diabetes” ร่วมมือ ร่วมใจ ต้านภัยเบาหวาน
ความสำคัญของวันเบาหวานโลก
จุดประสงค์ของวันเบาหวานโลกมีขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีความตระหนักถึงการดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้ป่วยเป็นเบาหวาน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานมากขึ้น ตั้งแต่ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นเบาหวาน สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน และการลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมบริโภคที่ไม่ถูกหลักโภชนาการที่ดี รวมไปถึงพฤติกรรมขาดการออกกำลังกาย ซึ่งจะเห็นได้ว่า จริง ๆ แล้วโรคเบาหวานเราป้องกันได้
นอกจากนี้จุดประสงค์ของวันเบาหวานโลก ยังคำนึงถึงผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยการให้ความรู้ในด้านการดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นเบาหวาน เพื่อช่วยชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วยค่ะ
อย่างไรก็ดี วันเบาหวานโลกไม่ได้มุ่งทำแค่กิจกรรมรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วโลกเท่านั้น แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังมีเป้าหมายหยุดการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ได้ในทุก ๆ ปีอีกด้วย
คำขวัญวันเบาหวานโลก 2560
สำหรับวันเบาหวานโลกปี 2560 สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติได้กำหนดคำขวัญไว้ว่า “Women and Diabetes : Our Right to a Healthy Future” หรือ “ผู้หญิงและเบาหวาน…ป้องกันวันนี้เพื่อสุขภาพที่ดีในวันหน้า”
โดยธีมของปีนี้จะเน้นไปที่การป้องกันโรคเบาหวานในผู้หญิง สืบเนื่องมาจากแนวโน้มของโรคนี้เสี่ยงกับผู้หญิงมากขึ้นทุกปีนั่นเองค่ะ
วันเบาหวานโลก มีกิจกรรมอะไรบ้าง
สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะแนวทางการจัดกิจกรรมในวันเบาหวานโลก 2560 ให้สอดคล้องกับธีมจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ จึงกำหนดให้บุคลากรสาธารณสุขและโรงพยาบาลทั่วประเทศจัดกิจกรรมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้แก่ประชาชนในประเด็นหลัก ๆ ดังนี้
– เรื่องสถานการณ์ความรุนแรงของโรคเบาหวาน
– ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคเบาหวาน
– การประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน
– สัญญาณเตือนภัยโรคเบาหวาน
– วิธีลดความเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน
– การดูแลตนเองเมื่อเป็นเบาหวาน
– การป้องกันโรคแทรกซ้อน
ทั้งนี้ทางสถานพยาบาลทุกแห่งสามารถจัดกิจกรรมได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมวิ่งมินิมาราธอน การเสวนาบนเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรืออาจมีกิจกรรมตรวจระดับน้ำตาลในเลือดให้ฟรี เป็นต้น
และหากใครกังวลว่า ตัวเองมีความเสี่ยงหรือมีอาการของโรคเบาหวานหรือไม่ ลองมาเช็กอาการกันดูค่ะ
– โรคเบาหวานมีกี่ประเภท เกิดจากสาเหตุอะไร ป้องกันได้ไหม ?
– อาการโรคเบาหวาน 10 สัญญาณควรระวัง เช็กได้ง่ายนิดเดียว
โรคเบาหวานเราสามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง โดยการดูแลสุขภาพ กินอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย และพยายามอย่าให้มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออ้วน หากทำได้ตามนี้ครบทุกข้อ ความเสี่ยงโรคเบาหวานก็จะลดลงจนอาจจะเป็นศูนย์เลยทีเดียวค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
www.kapook.com