ปัจจุบันพระสงฆ์และสามเณรไทยถือเป็น 1 ในกลุ่มเสี่ยงหลักที่มีโรครุมเร้าสูง จากการบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยแป้งและไขมันสูงหรือมีรสชาติหวานจัดเค็มจัดที่ญาติโยมนำมาถวาย และขาดการออกกำลังกายโดยข้อมูลการรักษาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสงฆ์ ปีงบประมาณ 2555 – 2557 ระบุว่า 3 อันดับโรคร้ายที่พบมากในกลุ่มพระสงฆ์และสามเณรไทย คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคเกี่ยวกับระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้ ยังพบโรคอื่นๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญด้วย เช่น ข้อเข่าเสื่อม ต้อกระจก ไขมันในเลือดสูง ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
โดยปัญหาโภชนาการไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสม รวมถึงกรณีอาหารปนเปื้อนไม่สะอาดเป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่พระสงฆ์ไทยต้องเผชิญมาตลอด เพราะด้วยวัตรปฏิบัติทำให้พระสงฆ์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือเลือกฉันภัตตาหารที่มีผู้นำมาถวายได้ ดังนั้น พุทธศาสนิกชนควรคำนึงถึงความปลอดภัยและโภชนาการของอาหารที่นำไปทำบุญตักบาตรทุกครั้ง เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ปลา ผัก ผลไม้ ไม่เน้นของทอด ลดอาหารหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ที่สำคัญต้องมั่นใจว่าไม่บูดเสียค้างคืน ถ้าเป็นไปได้ควรปรุงเสร็จใหม่ๆ จะดีที่สุด ไม่เช่นนั้นการทำบุญด้วยความตั้งใจดีก็อาจกลายเป็นการทำร้ายพระสงฆ์ทางอ้อมโดยที่เราไม่รู้ตัวได้
นอกจากนั้น สภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันยังส่งผลให้รูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์แตกต่างจากในอดีต เช่น พระสงฆ์ในเมืองเดินไปบิณฑบาตด้วยระยะทางที่สั้นลง เวลาไปปฏิบัติกิจก็มีพาหนะเดินทางสะดวกสบาย ประกอบกับพระสงฆ์ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถออกกำลังกายเหมือนฆราวาสได้ จึงมีโอกาสถูกคุกคามด้วยโรคต่างๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งปัญหานี้แก้ได้ด้วยการออกกำลังกายแบบง่ายๆ อย่างสำรวม โดยการเดินเป็นวิธีที่ดีที่สุด ทำได้ทั้งการเดินบิณฑบาต เดินจงกรม ต่อเนื่องเป็นเวลา 15-30 นาที หรือทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายบ้าง อาทิ การกวาดลานวัด การเดินขึ้นลงบันได ยกเว้นพระสงฆ์ที่มีปัญหาข้อเข่า